วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เมื่ออินเทลถึงเวลาผลัดใบซีอีโอ


      ยักษ์ใหญ่วงการชิพประมวลผล อย่าง อินเทล ตกอยู่ในอาการถูกตีแสกหน้า เมื่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) พอล โอเทลลินี่ ที่นั่งตำแหน่งนายใหญ่พาอินเทลผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 8 ปี ประกาศลาออกอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กดดันให้เกิดการปรับตัวในภาคธุรกิจไฮเทค ในช่วงที่อุตสาหกรรมเคลื่อนตัวไปสู่ยุคสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์พกพานานาชนิด

      โอเทลลินี่ ซึ่งเข้ามากุมบังเหียนอินเทลตั้งแต่ปี 2548 และอยู่คู่กับซิลิคอน วัลเลย์มาโดยตลอด ได้แจ้งให้คณะกรรมการบริหารของอินเทลทราบเมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ที่ผ่านมาว่า เขาต้องการเกษียณอายุในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันมาโดยตลอดว่า ซีอีโอวัย 62 ปีคนนี้จะอยู่กับอินเทลไปจนครบกำหนดอายุเกษียณของบริษัท คือ 65 ปี

      ประธานบริษัทอินเทล แอนดี ไบรอัน ยอมรับว่า การตัดสินใจของโอเทลลินี่ สร้างความตกใจให้กับบริษัท และยืนยันว่า ไม่มีสาเหตุอื่นใดเป็นพิเศษ นอกเหนือจากที่โอเทลลินี่รู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่นที่มีความสามารถขึ้นมาบริหารอินเทลบ้าง หลังจากที่เขาอยู่ในตำแหน่งซีอีโอมานานถึง 8 ปี

    "ผมพยายามโน้มน้าวใจให้เขาอยู่ต่อ แต่ไม่สำเร็จ เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่อินเทลจะต้องเปลี่ยนแปลง" ไบรอัน กล่าวในระหว่างให้สัมภาษณ์

      โอเทลลินี่ ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่อินเทลในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดลดค่าใช้จ่าย การพาอินเทลแข่งขันแบบหายใจรดต้นคอจนสามารถเอาชนะแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ อิงค์. (เอเอ็มดี) คว้าตำแหน่งผู้ผลิตชิพเบอร์ 1 ของโลกไปได้ หรือการพาบริษัทผ่าสมรภูมิศึกซักฟอกการต่อต้านการผูกขาดที่กินระยะเวลายาวนาน รวมถึงการขยายฐานการเป็นผู้นำในการผลิตคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

      ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง ยอดขายของอินเทลเพิ่มขึ้นจาก 38.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นประมาณ 53.5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ สำหรับกำไร มีการคาดการณ์กันว่า น่าจะทะลุ 10.9 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งมีกำไร 8.6 พันล้านดอลลาร์ แต่ราคาหุ้นลดลงราว 4% นับตั้งแต่เขาเข้ารับหน้าที่ซีอีโอ และลดลง 17% นับตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคม เป็นต้นมา

      การเปลี่ยนแปลงในเชิงการบริหารครั้งนี้ เน้นย้ำให้เห็นภูมิทัศน์ของอินเทลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว โดยอินเทล ซึ่งมีไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรทางด้านซอฟต์แวร์นั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้กำหนดมาตราฐานทางเทคนิคที่สำคัญให้กับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และสร้างกำไรได้มหาศาลจากอุตสาหกรรมนี้

      ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยเสริม คือ การมาถึงของ"ไอโฟน" ของแอปเปิล เมื่อปี 2550 ทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ถูกแทนที่โดยมือถือ และเหล่าผู้ผลิตและพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ต่างหันไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่รองรับและสำหรับใช้กับมือถือแทน

      อินเทล ซึ่งขายชิพที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรประมวลผลของพีซีได้กว่า 80% ต้องเผชิญกับภาวะที่ความต้องการชิพสำหรับพีซีที่ลดลง และมีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีชิพมือถือ และแท็บเล็ตพีซี

      แม้ชิพของอินเทลจะถูกเลือกไปใช้ในมือถือ ซึ่งวางจำหน่ายนอกสหรัฐ เป็นจำนวนมาก แต่บริษัทต้องเจอกับการแข่งขันอย่างหนักหน่วงในตลาดผู้ผลิตชิพ ที่ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทเออาร์เอ็ม โฮลดิ้งส์ พีแอลซี ในอังกฤษ

      ในอีกหนึ่งเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลง คือ การที่คู่แข่ง อย่าง ควอลคอมม์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาชิพสำหรับอุปกรณ์ไร้สาย และใช้เทคโนโลยีของเออาร์เอ็มด้วยนั้น เบียดอินเทลกลายเป็นบริษัทผลิตชิพที่มีมูลค่าสูงสุด ในขณะที่ ไมโครซอฟท์ เพิ่งวางจำหน่ายซอฟต์แวร์วินโดวส์สำหรับชิพเออาร์เอ็ม และเปิดแนวรบใหม่ในตลาดพีซี

      เครก เบอร์เกอร์ นักวิเคราะห์ของเอฟบีอาร์ แคปิตอล มาร์เก็ต ให้ความเห็นว่า อินเทลไม่สามารถเจาะตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตพีซีได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนทิศทางและนำเทคโนโลยีเออาร์เอ็ม และเทคโนโลยีไร้สายที่ทันสมัยควอล์คอมม์ใช้ในชิพของตัวเอง มาใช้

      แม้อินเทลจะไม่ประสบความสำเร็จในตลาดอุปกรณ์พกพา แต่ดูเหมือนว่า มีแนวโน้มที่บริษัทจะถูกบีบให้แบ่งตลาดชิพสำหรับอุปกรณ์พกพากับผู้ผลิตชิพรายอื่น ที่ใช้กลยุทธ์ด้านราคา และประสิทธิภาพในการแข่งขันอย่างดุเดือด ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำไรไม่มาก แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากตลาดชิพพีซี
"อินเทลไม่ได้เป็นผู้ผลิตชิพเพียงรายเดียวในเกมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้" โรเบิร์ต เบอร์เกลเมน ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งมีติดตามอินเทลอย่างใกล้ชิด กล่าว

      เมื่อวันจันทร์ (19 พ.ย.) อินเทล เปิดเผยรายชื่อผู้บริหารในบริษัทที่มีโอกาสจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอแทนโอเทลลีนี่ ซึ่งประกอบด้วย เรเน เจมส์ หัวหน้าธุรกิจซอฟต์แวร์ ไบรอัน ครานิช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ (ซีโอโอ) และหัวหน้าฝ่ายผลิตทั่วโลก และสเตซี สมิธ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) และผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร รวมถึงรองประธานฝ่ายบริหาร 2 คน ทั้งเดวิด เพอร์มุตเตอร์ ที่ดูแลเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และอาร์วินด์ สุดธานี ที่บริหารหน่วยงานด้านการลงทุน

     ไบรอัน บอกว่า เพื่อฉีกประเพณีที่มาแต่เดิม บริษัทมีแผนจะพิจารณาผู้สมัครจากภายนอก แต่จะ "พิจารณา" คนในก่อน พร้อมเสริมว่า คณะกรรมการ"พอใจกับกลยุทธ์ที่โอเทลลินี่วางไว้มาก" และมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทิศทาง

      แหล่งข่าววงใน กล่าวว่า ในส่วนของผู้สมัครจากภายนอก ที่บรรดาผู้บริหารในอุตสาหกรรมหลายคนหยิบยกมาอ้างถึงบ่อย ประกอบด้วย เดวิด เดอวอล์ต อดีตซีอีโอของแมคอาฟี อิงค์. ซึ่งอินเทลเทคโอเวอร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และวิลเลี่ยม นูติ ประธานบริหาร และซีอีโอของเอ็นซีอาร์ คอร์ป. รวมถึงแพต เกลซิงเกอร์ อดีตผู้บริหารอินเทล ที่ปัจจุบันเป็นซีอีโอของวีเอ็มแวร์ อิงค์. ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่มีอีเอ็มซี คอร์ป. ถือหุ้นใหญ่ และได้รับการวางตัวว่า จะเป็นซีอีโอคนใหม่ของอีเอ็มซี

      โอเทลลินี่ ซึ่งเป็นซีอีโอคนที่ 5 นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2511 เป็นซีอีโอคนแรกที่ไม่มีพื้นฐานมาจากการเป็นวิศวกร แต่เติบโตมาจากสายการตลาดและการขาย รูปแบบการบริหารของเขาแตกต่างจากซีอีโอที่เป็นตำนานของอินเทล อย่าง กอร์ดอน มัวร์ และแอนดี้ โกรฟ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น