วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เมื่ออินเทลถึงเวลาผลัดใบซีอีโอ


      ยักษ์ใหญ่วงการชิพประมวลผล อย่าง อินเทล ตกอยู่ในอาการถูกตีแสกหน้า เมื่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) พอล โอเทลลินี่ ที่นั่งตำแหน่งนายใหญ่พาอินเทลผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 8 ปี ประกาศลาออกอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กดดันให้เกิดการปรับตัวในภาคธุรกิจไฮเทค ในช่วงที่อุตสาหกรรมเคลื่อนตัวไปสู่ยุคสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์พกพานานาชนิด

      โอเทลลินี่ ซึ่งเข้ามากุมบังเหียนอินเทลตั้งแต่ปี 2548 และอยู่คู่กับซิลิคอน วัลเลย์มาโดยตลอด ได้แจ้งให้คณะกรรมการบริหารของอินเทลทราบเมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ที่ผ่านมาว่า เขาต้องการเกษียณอายุในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันมาโดยตลอดว่า ซีอีโอวัย 62 ปีคนนี้จะอยู่กับอินเทลไปจนครบกำหนดอายุเกษียณของบริษัท คือ 65 ปี

      ประธานบริษัทอินเทล แอนดี ไบรอัน ยอมรับว่า การตัดสินใจของโอเทลลินี่ สร้างความตกใจให้กับบริษัท และยืนยันว่า ไม่มีสาเหตุอื่นใดเป็นพิเศษ นอกเหนือจากที่โอเทลลินี่รู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนมือให้บุคคลอื่นที่มีความสามารถขึ้นมาบริหารอินเทลบ้าง หลังจากที่เขาอยู่ในตำแหน่งซีอีโอมานานถึง 8 ปี

    "ผมพยายามโน้มน้าวใจให้เขาอยู่ต่อ แต่ไม่สำเร็จ เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่อินเทลจะต้องเปลี่ยนแปลง" ไบรอัน กล่าวในระหว่างให้สัมภาษณ์

      โอเทลลินี่ ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่อินเทลในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดลดค่าใช้จ่าย การพาอินเทลแข่งขันแบบหายใจรดต้นคอจนสามารถเอาชนะแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ อิงค์. (เอเอ็มดี) คว้าตำแหน่งผู้ผลิตชิพเบอร์ 1 ของโลกไปได้ หรือการพาบริษัทผ่าสมรภูมิศึกซักฟอกการต่อต้านการผูกขาดที่กินระยะเวลายาวนาน รวมถึงการขยายฐานการเป็นผู้นำในการผลิตคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

      ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง ยอดขายของอินเทลเพิ่มขึ้นจาก 38.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นประมาณ 53.5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ สำหรับกำไร มีการคาดการณ์กันว่า น่าจะทะลุ 10.9 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งมีกำไร 8.6 พันล้านดอลลาร์ แต่ราคาหุ้นลดลงราว 4% นับตั้งแต่เขาเข้ารับหน้าที่ซีอีโอ และลดลง 17% นับตั้งแต่สิ้นเดือนสิงหาคม เป็นต้นมา

      การเปลี่ยนแปลงในเชิงการบริหารครั้งนี้ เน้นย้ำให้เห็นภูมิทัศน์ของอินเทลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว โดยอินเทล ซึ่งมีไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรทางด้านซอฟต์แวร์นั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้กำหนดมาตราฐานทางเทคนิคที่สำคัญให้กับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และสร้างกำไรได้มหาศาลจากอุตสาหกรรมนี้

      ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยเสริม คือ การมาถึงของ"ไอโฟน" ของแอปเปิล เมื่อปี 2550 ทำให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ถูกแทนที่โดยมือถือ และเหล่าผู้ผลิตและพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ต่างหันไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่รองรับและสำหรับใช้กับมือถือแทน

      อินเทล ซึ่งขายชิพที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรประมวลผลของพีซีได้กว่า 80% ต้องเผชิญกับภาวะที่ความต้องการชิพสำหรับพีซีที่ลดลง และมีข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีชิพมือถือ และแท็บเล็ตพีซี

      แม้ชิพของอินเทลจะถูกเลือกไปใช้ในมือถือ ซึ่งวางจำหน่ายนอกสหรัฐ เป็นจำนวนมาก แต่บริษัทต้องเจอกับการแข่งขันอย่างหนักหน่วงในตลาดผู้ผลิตชิพ ที่ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทเออาร์เอ็ม โฮลดิ้งส์ พีแอลซี ในอังกฤษ

      ในอีกหนึ่งเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลง คือ การที่คู่แข่ง อย่าง ควอลคอมม์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาชิพสำหรับอุปกรณ์ไร้สาย และใช้เทคโนโลยีของเออาร์เอ็มด้วยนั้น เบียดอินเทลกลายเป็นบริษัทผลิตชิพที่มีมูลค่าสูงสุด ในขณะที่ ไมโครซอฟท์ เพิ่งวางจำหน่ายซอฟต์แวร์วินโดวส์สำหรับชิพเออาร์เอ็ม และเปิดแนวรบใหม่ในตลาดพีซี

      เครก เบอร์เกอร์ นักวิเคราะห์ของเอฟบีอาร์ แคปิตอล มาร์เก็ต ให้ความเห็นว่า อินเทลไม่สามารถเจาะตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตพีซีได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนทิศทางและนำเทคโนโลยีเออาร์เอ็ม และเทคโนโลยีไร้สายที่ทันสมัยควอล์คอมม์ใช้ในชิพของตัวเอง มาใช้

      แม้อินเทลจะไม่ประสบความสำเร็จในตลาดอุปกรณ์พกพา แต่ดูเหมือนว่า มีแนวโน้มที่บริษัทจะถูกบีบให้แบ่งตลาดชิพสำหรับอุปกรณ์พกพากับผู้ผลิตชิพรายอื่น ที่ใช้กลยุทธ์ด้านราคา และประสิทธิภาพในการแข่งขันอย่างดุเดือด ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำไรไม่มาก แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากตลาดชิพพีซี
"อินเทลไม่ได้เป็นผู้ผลิตชิพเพียงรายเดียวในเกมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้" โรเบิร์ต เบอร์เกลเมน ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งมีติดตามอินเทลอย่างใกล้ชิด กล่าว

      เมื่อวันจันทร์ (19 พ.ย.) อินเทล เปิดเผยรายชื่อผู้บริหารในบริษัทที่มีโอกาสจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งซีอีโอแทนโอเทลลีนี่ ซึ่งประกอบด้วย เรเน เจมส์ หัวหน้าธุรกิจซอฟต์แวร์ ไบรอัน ครานิช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ (ซีโอโอ) และหัวหน้าฝ่ายผลิตทั่วโลก และสเตซี สมิธ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) และผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร รวมถึงรองประธานฝ่ายบริหาร 2 คน ทั้งเดวิด เพอร์มุตเตอร์ ที่ดูแลเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และอาร์วินด์ สุดธานี ที่บริหารหน่วยงานด้านการลงทุน

     ไบรอัน บอกว่า เพื่อฉีกประเพณีที่มาแต่เดิม บริษัทมีแผนจะพิจารณาผู้สมัครจากภายนอก แต่จะ "พิจารณา" คนในก่อน พร้อมเสริมว่า คณะกรรมการ"พอใจกับกลยุทธ์ที่โอเทลลินี่วางไว้มาก" และมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงทิศทาง

      แหล่งข่าววงใน กล่าวว่า ในส่วนของผู้สมัครจากภายนอก ที่บรรดาผู้บริหารในอุตสาหกรรมหลายคนหยิบยกมาอ้างถึงบ่อย ประกอบด้วย เดวิด เดอวอล์ต อดีตซีอีโอของแมคอาฟี อิงค์. ซึ่งอินเทลเทคโอเวอร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และวิลเลี่ยม นูติ ประธานบริหาร และซีอีโอของเอ็นซีอาร์ คอร์ป. รวมถึงแพต เกลซิงเกอร์ อดีตผู้บริหารอินเทล ที่ปัจจุบันเป็นซีอีโอของวีเอ็มแวร์ อิงค์. ธุรกิจซอฟต์แวร์ที่มีอีเอ็มซี คอร์ป. ถือหุ้นใหญ่ และได้รับการวางตัวว่า จะเป็นซีอีโอคนใหม่ของอีเอ็มซี

      โอเทลลินี่ ซึ่งเป็นซีอีโอคนที่ 5 นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2511 เป็นซีอีโอคนแรกที่ไม่มีพื้นฐานมาจากการเป็นวิศวกร แต่เติบโตมาจากสายการตลาดและการขาย รูปแบบการบริหารของเขาแตกต่างจากซีอีโอที่เป็นตำนานของอินเทล อย่าง กอร์ดอน มัวร์ และแอนดี้ โกรฟ

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เพิ่มปุ่ม Like Facebook ใน Blogger ของคุณ


            วันนี้เราจะมาพูดถึงการเพิ่มปุ่ม Like ให้กับบทความของบล็อคเรานะครับ ดั่งที่เห็นในภาพด้านบนนะครับ เป็นทางนึงที่ช่วยให้คนรู้จักบล็อกเรามากขึ้น เพราถ้ามีคนกด Like ก็จะโชว์ในเฟสบุ๊คของคนที่กดด้วย และวันนี้ไม่ยากนะครับมาลองดูกัน 

         เข้าไปที่ การออกแบบ > แก้ไข HTML จากนั้นให้ติ๊กที่ช่อง ขยายเทมเพลตวิดเจ็ต แล้วให้หา Code นี้ครับ <data:post.body/> ก๊อปโค้ดด้านล่างไปวางก่อนหน้า  <data:post.body/>  นะครับ
แล้วบันทึกแบบ แล้วลองเข้าดูบทความของคุณ คุณก็จะได้ปุ่มดังภาพนะครับ 

<div>
<b:if cond='data:post.isFirstPost'> 
<script>(function(d){
  var js, id = 'facebook-jssdk'; if (d.getElementById(id)) {return;}
  js = d.createElement('script'); js.id = id; js.async = true;
  js.src = "//connect.facebook.net/en_US/all.js#xfbml=1";
  d.getElementsByTagName('head')[0].appendChild(js);
}(document));</script>
</b:if> 
<fb:like expr:href="data:post.canonicalUrl" layout='standard' send='true' show_faces='false' font="arial" action="like" colorscheme="light"></fb:like>
</div>


คุณจะได้ดังภาพนี้นะครับ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ผู้อ่านนะครับ ขอบคุณครับ

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

นวัตกรรม เทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ


นวัตกรรม (Innovation)
                 1. ทอมัส ฮิวช์ (Thomas Hughes) ได้ให้ความหมายของ นวัตกรรมว่า เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว เริ่มตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของ โครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา (boonpan edt01.htm)
                2.มอร์ตัน (Morton,J.A.) ให้ความหมาย นวัตกรรมว่าเป็นการทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง(Renewal) ซึ่งหมายถึง การปรับปรุงสิ่งเก่าและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงาน หรือองค์การนั้น ๆ นวัตกรรม ไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการ ปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนา(boonpanedt01.htm)
                3.ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2521 : 14) ได้ให้ความหมาย นวัตกรรมไว้ว่าหมายถึง วิธีการปฎิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิมโดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการ ทดลอง พัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในทางปฎิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
                สรุป นวัตกรรม หมายถึงความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำ นวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูง กว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย

เทคโนโลยี (Technology)
                1.ผดุงยศ ดวงมาลา ( 2523 : 16) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีว่าปัจจุบันมีความหมายกว้างกว่ารากศัพท์เดิม คือ หมายถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ทาง อุตสาหกรรม ถ้าในแง่ของความรู้ เทคโนโลยีจะหมายถึง ความรู้หรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับเทคนิคการผลิตในอุตสาหกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรืออาจสรุปว่า เทคโนโลยี คือ ความรู้ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์เอง ทั้งในแง่ความเป็นอยู่และการควบคุมสิ่งแวดล้อม
                2.สิปปนนท์ เกตุทัต ( ม.ป.ป. 81) อธิบายว่า เทคโนโลยี คือ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ มาผสมผสานประยุกต์ เพื่อสนองเป้าหมายเฉพาะตามความต้องการของมนุษย์ด้วยการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในการผลิตและจำหน่ายให้ต่อเนื่องตลอดทั้งกระบวนการ เทคโนโลยีจึงมักจะมีคุณประโยชน์และเหมาะสมเฉพาะเวลาและสถานที่ และหากเทคโนโลยีนั้นสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีนั้นจะเกื้อกูลเป็นประโยชน์ทั้งต่อบุคคลและส่วนรวม หากไม่สอดคล้องเทคโนโลยี นั้น ๆ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามหาศาล
                3.ธรรมนูญ โรจนะบุรานนท์ (2531 : 170) กล่าวว่า เทคโนโลยี คือ ความรู้วิชาการรวมกับความรู้วิธีการ และความชำนาญที่สามารถนำไปปฏิบัติภารกิจให้มีประสิทธิภาพสูง โดยปกติเทคโนโลยีนั้นมีความรู้วิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วย นั้นคือวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ เทคโนโลยีเป็นการนำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ จึงมักนิยมใช้สองคำด้วยกัน คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเน้นให้เข้าใจว่า ทั้งสองอย่างนี้ต้องควบคู่กันไปจึงจะมีประสิทธิภาพสูง
                สรุป เทคโนโลยี คือการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงศึกษากฎเกณฑ์ของสิ่งต่างๆ และนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)
                1.กมลรัฐ อินทรทัศน์ (2550) ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง การนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสารสนเทศทำให้สารสนเทศมีประโยชน์ และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศ ยังเอื้อประโยชน์ทำให้การสื่อสารกัน และกันของมนุษย์ทำได้อย่างไร้ขีดจำกัดมากขึ้น ทั้งนี้อาจแบ่งประเภทของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารออกเป็นประเภทหลัก ๆ ได้ 3 ประเภท คือ อินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต และเวิร์ล ไวด์ เว็บ
                2.ลูคัส จูเนียร์ (Lucas,JR 1997 : 7 ) กล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง รูปแบบของเทคโนโลยีทุกประเภท ที่นำมา ประยุกต์ใช้ เพื่อการประมวลผล การจัดเก็บ
                3.บีแฮนและโฮลัมส์ ให้ความหมายไว้ว่า "เทคโนโลยีสารสนเทศหมายถึง เทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์สามารถสร้างระบบสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้เกิดประสิทธิผลและประโยชน์อย่างมหาศาล ได้แก่ การใช้ทำเบียนข้อมูล การจัดเก็บ การประมวลผลการค้นคืน การส่งและรับสารสานเทศต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรสาร โทรคมนาคม และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเทคโนโลยีเดิมที่ใช้ในระบบจัดเรียงเอกสาร เครื่องทำบัญชีอัตโนมัติ เป็นต้น"
             สรุป เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงหมายถึง เทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้จัดการสารสนเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผล การแสดงผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน และการสื่อสารข้อมูล เพื่อให้ได้สารสนเทศที่เหมาะสมและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21


        การเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะจะช่วยยกระดับคนเราให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้นทำให้เรามีโอกาสได้ทำงานที่ดี ซึ่งการเรียนรู้ในแต่ละยุคสมัยนั้นก็แตกต่างกันออกไปอย่างเช่น ในช่วงยุคสมัยก่อน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ยังไม่สะดวกสบายการเดินทางออกไปเรียนก็มีความยากลำบาก อุปกรณ์การเรียนการสอนสือต่างๆก็ยังไม่มี โรงเรียนก็มีน้อยหรืออาจะไม่มีจนต้องอาศัยวัดวาอารามเป็นสถานที่ใช้เรียนรู้ แต่ในยุคปัจจุบันนี้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีความสะดวกและพร้อมต่อการศึกษาเล่าเรียน เพราะเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีโรงเรียนมากขึ้นเพียงพอต่อจำนวนนักเรียน การเดินทางก็สะดวก ซึ่งการเรียนการสอนในยุคนี้ก็ยังนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนการสอน ดังนั้น การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ควรจะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อที่จะช่วยยกระดับของการศึกษาให้มีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเทคโนลยีจะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถเรียนรู้ทางไกลโดยไม่ต้องเดินทางมายังโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดภาระต่างๆทำให้สะดวกสบายและรวดเร็วได้อย่างมากทีเดียว แต่การที่เทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้เราเห็นแต่ข้อดีของเทคโนโลยีจนลืมข้อเสียต่างๆของมันไป เพราะฉนั้นเราควรจะใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและต้องไม่ส่งผลเสียต่อตัวเราและผู้อื่น